ความเป็นมาของเขตไควซิงเริ่มต้นขึ้นในปี 1988 ที่ประกอบด้วยย่านอุตสาหกรรมไควชุงในนิวเทอริทอรี่ส์ และเกาะซิงยี่ที่มีเนินสูงๆ ต่ำๆ เขียวขจี
เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในนิวเทอริทอรีส์ แต่ก่อนไควชุงเป็นพื้นที่ชนบท จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ที่นี่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหนัก ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 แม้โรงงานหลายแห่งที่ก่อตั้งในเขตชายฝั่งไควชุง ได้ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ ไควซิงก็ยังเป็นเขตท่าสำคัญของฮ่องกง และเป็นจุดหมายระดับโลกที่มีเรือขนส่งสินค้ามาเทียบท่าไม่ขาดสาย
ทุกวันนี้ บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์อยู่ปะปนกับบรรดาศิลปินและบริษัทเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ย้ายมาเขตนี้ก็เพราะมีข้อดีของโรงงานเก่าที่กว้างขวาง คุ้มราคา เป็นสิ่งจูงใจให้ปรับปรุงเป็นสตูดิโอ ขณะที่ตึกออฟฟิศใหม่เอี่ยมผุดขึ้นในย่านอุตสาหกรรมของเขตนี้ เหล่านวัตกรและเจ้าของกิจการมากมายกลับทุ่มเททำงานอยู่หลังประตูเหล็กกล้าหนาหนักภายในหอหล่อเย็นสูงตระหง่าน เป็นอีกปรากฏการณ์ที่ทำให้ไควชุงแตกต่างไปจากเขตอื่น
ส่วนที่อีกฝั่งของช่องแคบ Rambler คือเกาะซิงยี่ ที่เชื่อกันว่าชื่อเกาะนั้นมาจากปลาที่เคยอยู่ชุกชุมในน้ำแถบนี้ ก็กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยมีแนวกระท่อมชายน้ำ อย่างที่ยังพบได้ในหมู่บ้าน Tai O บนเกาะลันเตา ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญของฮ่องกง โดยมีสะพาน Ting Kau และ Tsing Ma เชื่อมกับนิวเทอริทอรี่ส์และเกาะลันเตา เกาะที่มีการถมทะเลเพื่อขยายพื้นจนกว้างขวางนี้ มีภูเขา Tsing Yi Peak สูง 334 เมตร ที่คั่นเขตอุตสาหกรรมด้านตะวันตกให้แยกจากเขตที่อยู่อาศัยในด้านตะวันออก และกลายเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับย่านที่เป็นเมืองที่สุดของเขตนี้
เดินชมทัศนียภาพจาก Tsing Yi Promenade ที่สร้างเลียบช่องแคบ Rambler ที่แยกเกาะซิงยี่จากไควชุง
ชมวิวสะพานที่น่าตื่นตาจากจุดชมวิว Lantau Link
สมัครเรียนงานประดิษฐ์ที่ Here Workshop ของศิลปินงานไม้และงานเหล็กชาวฮ่องกง Stanley Lee
พักจิบกาแฟที่คาเฟอินดี้สักแห่งในไควซิง