เริ่มการเดินเที่ยวชมนี้ที่โรงละครเยามะไต๋ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางแยกของถนน Waterloo และถนน Reclamation อาคารนี้สร้างขึ้นประมาณปี 1930 และเป็นโรงละครในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในเกาลูน โรงละครนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการด้านความบันเทิงแก่ผู้คนในตลาดผลไม้เยามะไต๋และย่านเทมเปิลสตรีท โดยเป็นอาคารทรงต่ำตั้งอยู่ท่ามกลางย่านใกล้เคียงที่เต็มไปด้วยตึกสูง โรงละครมีการออกแบบที่ผสมผสานลักษณะสไตล์คลาสสิกและอาร์ตเดโค อีกทั้งมีทางเข้าด้านที่หน้าขนาบข้างด้วยเสาสองต้นที่แกะสลักเป็นใบหน้าหัวเราะและร้องไห้ ซุ้มประตูโค้งโพรซีเนียม หลังคาลาดแบบจีน รวมถึงส่วนหน้าอาคารสไตล์อาร์ตเดโค และหน้าจั่วแบบคลาสสิก
หลังจากการฟื้นฟูในปี 2012 โรงละครแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในฐานะโรงละครที่ส่งเสริมอุปรากรจีน โดยเฉพาะอุปรากรกวางตุ้ง ซึ่งจัดแสดงอุปรากรกวางตุ้งแบบดั้งเดิมเป็นประจำ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสรูปแบบศิลปะมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้
เมื่อข้ามถนนจากโรงละครเยามะไต๋ไปฝั่งตรงข้ามก็จะพบตลาดผลไม้เยามะไต๋ที่กว้างใหญ่และคึกคัก ซึ่งชาวฮ่องกงรู้จักกันดีในชื่อกว๋อหลัน (果欄: ตลาดค้าส่งผลไม้) มองเผิน ๆ อาจดูเหมือนตลาดริมทางทั่วไป แต่ตลาดกว๋อหลันมีความหมายทางประวัติศาสตร์ในฐานะส่วนสำคัญของการดำรงชีวิตในท้องถิ่นนับตั้งแต่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 โดยจัดหาผลิตผลสดใหม่ให้กับย่านใกล้เคียง หลังจากมีการเปิดตลาดอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ตลาดกว๋อหลันได้จำกัดขอบเขตให้แคบลงเหลือเพียงตลาดผลไม้
ตลาดกว๋อหลันเรียงรายไปด้วยอาคารหนึ่งชั้นและสองชั้นที่สร้างจากอิฐและหินในสไตล์อาร์ตเดโค ซึ่งยังคงแสดงถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบของการก่อสร้างที่พบได้ทั่วไปในช่วงทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 และหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน หากสังเกตดี ๆ คุณจะเห็นป้ายชื่อร้านที่ประดับอยู่ตามตึกแถว ซึ่งมีชื่อย่อของธุรกิจต่าง ๆ ที่ล้วนดูเก่าแก่พอ ๆ กับตัวอาคาร
ถัดไป มุ่งหน้าตามถนน Shek Lung เพื่อไปยังอาคารอิฐแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานผู้ดูแลและสถานีบริการของสถานีสูบน้ำเดิม หรือที่ทั่วไปรู้จักกันในชื่ออาคารอิฐแดง อาคารนี้มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นด้วยตัวอาคารภายนอกที่เป็นอิฐสีแดงซึ่งตัดกันอย่างชัดเจนกับย่านใกล้เคียงที่เป็นตึกทันสมัยสูงเสียดฟ้า แท้จริงแล้ว อาคารนี้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างเดียวที่ยังเหลืออยู่ของสถานีสูบน้ำเดิมที่สร้างขึ้นในปี 1895 ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในฮ่องกง!
หลังจากที่สถานีหยุดดำเนินการในปี 1911 อาคารต่าง ๆ ของสถานีก็ถูกรื้อถอนและคงเหลือไว้เพียงอาคารอิฐแดง ซึ่งได้รับการจัดประเภทเป็นอาคารประวัติศาสตร์ระดับ 1 ในปี 2000 อาคารอิฐแดงยังคงให้บริการชุมชนต่อมา โดยปรับเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ท้ายที่สุดจึงกลายเป็นสำนักงานของโรงละครเยามะไต๋ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม นอกเหนือจากด้านนอกอาคารอิฐแดงที่สะดุดตาแล้ว ลองมองหาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ดูไม่รู้เบื่อ เช่น ยอดรางน้ำเหล็กหล่อ ระเบียงประดับซุ้มโค้ง และท่อระบายน้ำฝนเหล็กหล่อ
ท่ามกลางร้านขายเครื่องครัวที่เรียงรายอยู่ริมถนน Shanghai คุณจะพบความสงบอย่างน่าประหลาดที่วัดทินหัว ซึ่งเป็นวัดที่สร้างถวายแด่เจ้าแม่ทินหัวที่ใหญ่ที่สุดในเกาลูน วัดนี้สร้างขึ้นประมาณปี 1865 ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงวัดเล็ก ๆ ในย่านที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Pak Hoi Street และได้ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบันโดยชาวเรือและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านเยามะไต๋
เนื่องจากแรกเริ่มเดิมทีฮ่องกงเป็นชุมชนชาวประมง จึงมีการสร้างวัดทินหัวหลายแห่งริมน้ำเพื่อให้คนเดินเรืออธิษฐานขอพรเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ บริเวณนี้เคยเป็นแนวชายฝั่งเยามะไต๋มาก่อน กระทั่งมีการถมทะเลจนทำให้แนวชายฝั่งเคลื่อนตัวออกไปอีกราวสามกิโลเมตร
วัดแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารห้าหลังติดกัน โดยมีบริเวณที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับสักการะและโรงเรียนที่เปิดสอนฟรีจนถึงปี 1955 รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดแสดงถึงสมัยราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1911) โดยมีเฉลียงทางเข้าพร้อมแท่นกลอง ห้องโถงสองห้องพร้อมมุขโถงสามจุด และลานกว้างระหว่างห้องโถง ในเดือนกรกฎาคม 2020 โรงเรียนได้รับการปรับปรุงและฟื้นฟูให้เป็นร้านหนังสือแบบบริการตนเอง
เมื่อเข้าทางประตูบนถนน Public Square จะพบกับรูปปั้นเซรามิกฉือวานอันเก่าแก่และกำแพงเก้ามังกร ซึ่งตกแต่งด้วยลวดลายมังกรจีนที่ปกติจะพบได้ในพระราชวังและสวนของจักรพรรดิจีน ในวันที่ 23 เดือนสามตามปฏิทินจันทรคติ (ปกติคือเดือนพฤษภาคมตามปฏิทินเกรโกเรียน) วัดทินหัวจะจัดเทศกาลทินหัว เพื่อเป็นการสักการะบูชาหนึ่งในเทพเจ้าที่ผู้คนเคารพนับถือมากที่สุดในฮ่องกง
หากเดินตามถนนไปอีกเล็กน้อยจะพบสถานีตำรวจเยามะไต๋เก่า ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1922 ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยเอ็ดเวิร์ด ทางเข้าหลักของสถานีเป็นหน้ามุขครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในเหลี่ยมย่อมุมของอาคาร โดยจะพบเห็นการออกแบบเหลี่ยมย่อมุมในลักษณะนี้ได้บ่อยครั้งเนื่องจากเป็นการส่งเสริมฮวงจุ้ยที่ดี อาคารนี้สร้างขึ้นแบบฟรีสไตล์ผสานกลิ่นอายยุคเอ็ดเวิร์ด ซึ่งมีการขยายปีกอาคารออกไปทางฝั่งตะวันตกของตัวอาคารหลักที่เป็นแบบนีโอคลาสสิก เพื่อใช้เป็นค่ายทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แฟนภาพยนตร์ของเฉินหลง (Jackie Chan) อาจจำอาคารนี้ได้จากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด 2 (Rush Hour 2)! สถานีตำรวจนี้ปิดให้บริการตั้งแต่กลางปี 2016 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินงานจากสถานีแห่งใหม่บนถนน Yau Cheung แทน จากพื้นที่ทั้งหมด มีเพียงศูนย์การรายงานขนาดเล็กที่ยังคงเปิดให้บริการแก่สาธารณะ
เหลืออาคารเพียงไม่กี่หลังในฮ่องกงที่ยังคงมีเฉลียงมุงหลังคาที่ชั้นล่างตามรูปแบบตึกแถวสมัยเก่า โดยหนึ่งในนั้นคืออาคารที่ตั้งอยู่บน 176-178 Shanghai Street คนท้องถิ่นเรียกอาคารนี้ว่า ตงเหลา (唐樓) หากแปลตามตัวอักษรจะหมายถึง “อาคารจีน” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาคารเหล่านี้เป็นของพ่อค้าชาวจีนในสมัยนั้น
ป้ายขนาดใหญ่ด้านบนอาคารปรากฏตัวเลข “1940” ซึ่งเป็นปีที่ก่อสร้าง แม้ว่าอาคารตึกแถวสี่ชั้นนี้จะได้รับการตกแต่งใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ตาม ปัจจุบันอาคารนี้เป็นที่ตั้งของโรงรับจำนำเก่าแก่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างน้อย ทั้งสองด้านของอาคารประดับป้ายไฟนีออนตามรูปแบบดั้งเดิมของโรงรับจำนำ ซึ่งเป็นรูปค้างคาวห้อยหัวคาบเหรียญที่เข้ากับยุคสมัย บนป้ายมีอักขระภาษาจีนสำหรับคำว่าค้างคาว (蝠), โชคลาภ (福), “หวนคืน” (倒) และ “มาเยือน” (到) โดยเป็นคำพ้องเสียงที่หมายถึง การมาเยือนของโชคลาภ
คริสตจักรเกาลูนยูเนี่ยนสร้างขึ้นในปี 1930 โดยสมาคมมิชชันนารีลอนดอน เป็นหนึ่งในคริสตจักรระหว่างต่างศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในฮ่องกง เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ในเมือง คริสตจักรหลังนี้มีการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก โครงสร้างอิฐแดงและหินแกรนิตได้รับการออกแบบสไตล์กอธิก แต่ยังมีองค์ประกอบแบบเอเชีย เช่น หลังคาลาดมุงกระเบื้องแบบจีน หน้าต่างกระจกสีเหนือแท่นทำพิธีตรงกลางได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงบากัวแปดทิศที่แพร่หลายในลัทธิเต๋า โครงหลังคาไม้แบบแฮมเมอร์บีมสองชั้นก็เป็นคุณลักษณะที่หายากเช่นกัน ภาพลักษณ์โดดเด่นจากการผสมผสานอันน่าภาคภูมิใจระหว่างจีนและตะวันตกคือการสะท้อนถึงความเป็นฮ่องกง
ศิลปะและสถาปัตยกรรมอันตราตรึงใจอาจพบได้ในสถานที่ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุด และสถานี Hong Kong West Kowloon ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางดังกล่าว สถานีแห่งนี้มีโครงสร้างขนาดมหึมากอรปกับรูปทรงโค้งมนสะดุดตา โดยสร้างขึ้นจากเหล็ก 8,000 ตันและใช้แผ่นกระจกกว่า 4,000 ชิ้นเพื่อเพิ่มแสงธรรมชาติ เส้นคดโค้งที่ประสานเข้ารูปของทางเดินลอยฟ้าและจุดชมวิวบนชั้นดาดฟ้าสะท้อนถึงเกลียวคลื่นในมหาสมุทรที่ซัดเข้าหาอ่าว
นอกเหนือจากงานศิลปะที่กล่าวมานี้ ภายในสถานี คุณจะพบงานศิลปะขนาดใหญ่มากมายจากผู้มีพรสวรรค์ของชาวเอเชียที่ได้รับการยกย่อง ตั้งแต่การจัดวางดอกไม้ธรรมชาติโดย Qiu Zhijie ศิลปินชาวจีนผู้รังสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงภาพบทกวีประดับนีออนที่เห็นได้ตามถนนในฮ่องกงโดย Javin Mo นักออกแบบกราฟิก
Xiqu Centre สร้างแล้วเสร็จในปี 2019 เป็นพื้นที่ที่จัดสรรไว้สำหรับการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะอุปรากรจีนโดยเฉพาะ
แม้จะสื่อถึงความร่วมสมัยอย่างไร้ที่ติ แต่ Xiqu Centre ยังผสมผสานความดั้งเดิมเพื่อสะท้อนถึงวิวัฒนาการตามธรรมชาติของศิลปะ วิธีที่ดีที่สุดในการชื่นชมสถานที่สำคัญแห่งนี้คือการไปยังโรงละคร Tea House Theatre Experience ซึ่งมีการแสดงพร้อมการบรรยายที่รวบรวมช่วงบทประพันธ์และบทเพลงจากอุปรากรกวางตุ้งที่มีการคัดสรรใหม่ พร้อมคำบรรยายภาษาจีนและภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าใจง่าย คุณยังสามารถเข้าร่วมการนำชม Xiqu Centre เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ พร้อมค้นพบเรื่องราวที่น่าสนใจเบื้องหลังรูปแบบศิลปะดั้งเดิมนี้ กำหนดเวลาเยี่ยมชมของคุณให้ตรงกับหนึ่งในกิจกรรมและเทศกาลตามฤดูกาลต่าง ๆ ของ Xiqu Centre เพื่อประสบการณ์เต็มรูปแบบ!