เครดิตภาพ: Julian Leung Photography
กี่เพ้าเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของจีนที่จดจำได้ในทันที พบเห็นอย่างแพร่หลายทั้งในภาพยนตร์และโทรทัศน์ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสตรีและสถานภาพ ต้นกำเนิดของกี่เพ้ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1912) แต่ไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งปี 1920 กี่เพ้าเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงของชาวเซี่ยงไฮ้ และปี 1960 ในฮ่องกง เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของกี่เพ้า ซึ่งเริ่มขึ้นเนื่องจากชาวเซี่ยงไฮ้หลั่งไหลเข้ามาในฮ่องกงกันขนานใหญ่ ช่วงเวลาอันเด่นดังนี้ตราตรึงไม่รู้วายจากสถานที่ถ่ายทำสำคัญในภาพยนตร์ ห้วงรักอารมณ์เสน่หา (In the Mood for Love) ของ Wong Kar-wai ในปี 1960 ในฮ่องกง ซึ่งนักแสดงหญิง Maggie Cheung สวมใส่กี่เพ้าแบบต่าง ๆ มากกว่า 20 แบบในภาพยนตร์ ชุดที่เธอสวมใส่ทุกชุดตัดเย็บด้วยฝีมือทีมช่างตัดเสื้อผ้ามากความสามารถ หนึ่งในนั้นคืออาจารย์ Yan Ka-Man ซึ่งเคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับไฮเอนด์อย่าง Shanghai Tang และฝ่ายเครื่องแต่งกายของบริษัทแพร่ภาพกระจายเสียงโทรทัศน์ชั้นนำของฮ่องกง (TVB) ที่ตัดเย็บชุดกี่เพ้าให้นักแสดงชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ เช่น Tang Wei, Carina Lau, Michelle Yeoh, Lisa Wang และ Law Kar-ying
เครดิตภาพ: Julian Leung Photography
อาจารย์ Yan เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเจ้อเจียง เขามีวัยเด็กที่ยากลำบาก ในปี 1951 เมื่อเขาย้ายเข้าเมืองใหญ่ก็ได้พบว่าฮ่องกงเต็มไปด้วยกิจกรรมและโอกาสมากมาย เขาเริ่มต้นทำงานกับลุงตนเอง แม้ได้เงินเดือนแต่ก็พอมีพอใช้ ในตอนนั้นย่านจอร์แดนยังไม่เจริญ และไม่มีโรงงานที่จะผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากได้ ผู้คนจึงต้องตัดชุดกันเอง คนมีฐานะจะตัดชุดกี่เพ้า ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะตัดเสื้อและกางเกงธรรมดา ในช่วงนั้น มีร้านตัดเสื้อหลายร้านมากมายบนถนน Jordan สลับกับร้านค้าขนาดเล็กและร้านขายของชำ ร้านเหล่านี้มีทำเลตั้งอยู่ใกล้ร้านขายผ้าที่ถนน Nathan และท่าเรือข้ามฟากบนถนน Jordan ที่รื้อถอนแล้วในปัจจุบัน จึงดึงดูดให้ผู้คนที่สัญจรไปกลับจากเกาะฮ่องกงโดยเรือข้ามฟากสั่งตัดชุดกี่เพ้า ไม่เสียทีที่ย่านดังกล่าวเป็นย่านธุรกิจและแหล่งช้อปปิ้งหลักในช่วงเวลานั้น ประกอบกับถนน Shanghai ที่เต็มไปด้วยโรงรับจำนำ ร้านหนังสือ และการค้าขายแบบจีนดั้งเดิมอื่น ๆ
เครดิตภาพ: Calvin Sit Photography
“เมื่อก่อน ผมต้องตัดกี่เพ้าวันละสามชุด ตอนนี้ ผมตัดกี่เพ้าได้สัปดาห์ละสามชุดเท่านั้น” เขาอธิบาย น่าเสียดายที่ปัจจุบันมีช่างตัดเสื้อฝีมือดีและร้านชุดกี่เพ้าเหลืออยู่ไม่มาก “ในยุค 50 และยุค 60 ชุดกี่เพ้าเป็นที่นิยมมาก ผมคิดว่าตอนนี้คงมีร้านชุดกี่เพ้าเหลืออยู่ไม่มากแล้ว” อาจารย์ Yan กล่าวเสริม เขามีลูกค้าประจำเข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นก่อน แต่เขามีลูกค้าที่อายุยังน้อยสั่งตัดกี่เพ้าเช่นกัน โดยส่วนมากจะมาจากลูกค้าประจำของเขาแนะนำ ซึ่งใช้บริการตัดชุดสำหรับงานแต่งงานและงานที่เป็นทางการอื่น ๆ
เครดิตภาพ: Julian Leung Photography
แม้อาชีพของอาจารย์ Yan จะหยั่งลึกลงในทัศนียภาพศิลปะและวัฒนธรรมของเมืองแห่งนี้ เขาก็พึงพอใจที่จะอยู่เบื้องหลังผลงานของตนเอง เขาเป็นคนมีวินัย ทำงานตลอดทั้งปี ทุกเช้าก่อนไปทำงาน อาจารย์ Yan จะเดินขึ้นเขา Ducking ของ Tseung Kwan O เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนขึ้นรถไฟฟ้า MTR ไปจอร์แดน ร้านที่อยู่ติดกันคือร้านอาหารโปรดของเขา ซึ่งเขาจะสั่งชุดไข่ดาว ขนมปังปิ้ง และมักกะโรนีเป็นทุกวัน เขาแวะร้านกาแฟใกล้ ๆ อยู่บ่อยครั้งอีกด้วย เพื่อรับประทานก๋วยเตี๋ยวน้ำสักชามให้อยู่ท้อง เขาไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาชื่อเสียงหรือเงินทองเพียงอย่างเดียว
เครดิตภาพ: Julian Leung Photography
“เราแค่ทำงาน การมีชื่อเสียงนั้นสำคัญไฉน?” เขาให้เหตุผล นี่คือทัศนคติของช่างศิลป์ในสมัยก่อน ซึ่งมักจะทำงานฝีมือที่ตนเลือกมาทั้งชีวิตโดยไม่มีการตำหนิใด ๆ งานฝีมือโบราณมากมายในย่านนี้เสี่ยงที่จะค่อย ๆ เลือนหายไป แต่โชคดีที่อาจารย์ Yan จัดการฝึกปฏิบัติเป็นประจำสำหรับช่างตัดเสื้อมือใหม่ที่กระตือรือร้นที่จะสานต่อแบบแผนการตัดเย็บชุดกี่เพ้าอันทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา ลูกศิษย์ของอาจารย์ Yan เดินหน้าตัดเย็บชุดกี่เพ้าด้วยการตีความให้ทันสมัย นำไปสู่ยุคใหม่ของแฟชั่นท้องถิ่นที่ผสมผสานสไตล์ดั้งเดิมและสมัยใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาลูนตะวันตกด้วยเช่นกัน ด้วยวิธีนี้ ประวัติศาสตร์อันล้ำค่าจึงได้รับการเก็บรักษาไว้ และถักทอเข้ากับยุคสมัยใหม่อย่างแนบเนียน
ข้อมูลในบทความนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า กรุณาติดต่อผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามข้อมูล คณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกงจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ต่อคุณภาพหรือความเหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการของบุคคลภายนอก และไม่มีการรับรองหรือรับประกันความถูกต้อง ความเหมาะสม หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลใด ๆ ที่มีอยู่ในที่นี้